เนื่องจากสถานะการณ์ การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา2019 ทำให้เกิดผลกระทบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ผู้ป่วยสมองเสื่อมและผู้ดูแลก็ได้รับผลกระทบเหล่านี้เช่นเดียวกัน ไวรัสโคโรนา2019 เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยสูงอายุ
หรือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และโรคเบาหวานเป็นต้น มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อนี้ ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส หรือวัคซีนจำเพาะสำหรับเชื้อ ไวรัสโคโรนา2019
ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับผลกระทบของ ไวรัสโคโรนา2019 ต่อผู้ป่วยสมองเสื่อม ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสมองเสื่อมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อในผู้สูงอายุมักทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าคนที่อายุน้อย ข้อมูลของผู้ป่วยติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา2019 ที่ผ่านมาพบว่า 70% ของผู้เสียชีวิต เป็นผู้ป่วย อายุ70 ปีขึ้นไป 64% ของที่เหลือเป็นผู้ป่วยอายุ 60-69 ปี
ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันตกผู้ป่วยสมองเสื่อมส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่เพียงลำพัง อยู่กับคู่สมรส หรืออยู่ในศูนย์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งมีข่าวการเสียชีวิตของผู้สูงอายุเหล่านี้ตามลำพัง หรือในศูนย์ดูแลเป็นจำนวนมาก สำหรับสังคมตะวันออกรวมทั้งประเทศไทย นับได้ว่าเป็นข้อดี ที่ผู้ป่วยสมองเสื่อมส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน และมีผู้ดูแลเป็นลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง การที่ผู้ดูแลต้องอยู่กับบ้านเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของ ไวรัสโคโรนา2019 ทำให้ผู้ดูแลมีโอกาสได้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย มากขึ้น อย่างไรก็ตามการที่ผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ดูแลมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจาก ผู้ป่วยอาจขาดความระวังตัวในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ เช่น หลงลืมการล้างทำความสะอาดมือเป็นประจำ การหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เป็นต้น ส่วนผู้ดูแล ก็อาจเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาติดผู้ป่วย ดังนั้นผู้ดูแลต้องระวังในการดูแล ไม่นำเชื้อไวรัสมาติดผู้ป่วย
สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทยมีข้อแนะนำในการดูแลผู้ป่วย ดังนี้
1. ไม่ควรให้ผู้ป่วยออกนอกบริเวณบ้าน
2. ลดจำนวนผู้มาเยี่ยมผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
3. หลีกเลี่ยงการนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ถ้ามีนัดหรือขาดยาให้ผู้ดูแลไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยอาจถ่ายคลิปวิดีโอ หรือถ่ายภาพผู้ป่วยให้แพทย์ได้ดูแทนการพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล และบางโรงพยาบาลมีบริการรับปรึกษาทางไกล และส่งยาทางไปรษณีย์
4. เตือนผู้ป่วยให้ดูแลป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ เช่นล้างทำความสะอาดมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เท่าที่จะทำได้
5. ให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายภายในบริเวณบ้านอย่างเหมาะสม
6. ผู้ดูแลควรหลีกเลี่ยงและป้องกันการสัมผัสเชื้อโรคจากภายนอกบ้านให้มากที่สุด
7. ผู้ดูแลควรทำความสะอาดตัวเองโดยเฉพาะมือด้วยสบู่หรือ แอลกอฮอล์ ก่อนให้การดูแลผู้ป่วย
ด้วยความห่วงใย
สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย