คำแนะนำในการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ปัจจุบันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังอยู่ในภาวะรุนแรงผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีความเสี่ยงสูง ต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีโรคทางกายต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคอ้วน เป็นต้น และถ้าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมติดเชื้อไวรัสดังกล่าว มักมีอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ การรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถลดโอกาสการติดเชื้อและ ความรุนแรงของโรคนี้ได้ ทางสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทยจึงมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในการรับวัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้
1. สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล ได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากวัคซีนสามารถลดโอกาสการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคได้โดยมีผลข้างเคียงไม่มากไปกว่า ผลข้างเคียงที่เกิดกับประชากรวัยอื่น ๆ
2. ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมควรได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับวัคซีนและผลข้างเคียงของวัคซีนดังกล่าว หากผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถตัดสินใจยินยอมรับการฉีดวัคซีนเองได้ ญาติหรือคู่สมรสที่รับผิดชอบทางกฎหมาย อาจช่วยในการตัดสินใจแทนเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม
3. ผลข้างเคียงของการรับวัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 มักเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้ต่ำ ๆ 1-2 วันหลังฉีดวัคซีน ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายเองได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังกล่าว เกิน 48 ชั่วโมง หรือมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์
4. ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมที่มีอาการแพ้วัคซีนเข็มแรกรุนแรง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน มีการเจ็บป่วยทางกายหรือทางระบบ ประสาทที่อาการยังไม่คงที่หรือมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์รุนแรงที่ควบคุมไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการฉีด วัคซีนดังกล่าว
5. ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมที่ได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 หากจะฉีดวัคซีนอื่นเช่นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรฉีด ห่างจากวัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 อย่างน้อย 2 สัปดาห์
วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2564 สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย