สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย

The Dementia Association of Thailand

กัญชาและภาวะสมองเสื่อม

สำหรับแพทย์

8 มีนาคม 2562

ข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการทำงานพื้นฐานของสารกัญชาที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง กัญชาเป็นพืชในตระกูล Cannabaceae family โดยมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Cannabis sativa, Cannabis indica และ Cannabis ruderallis1 โดยปกติกัญชาที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ (medical cannabis) คือ Cannabis sativa ซึ่งมีสารเคมีภายในอยู่เป็นร้อยชนิด รวมถึง phytocannabinoids โดย phytocannabinoids 2 ชนิดหลักที่ได้นำมาใช้ในด้านการแพทย์ ได้แก่ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งมีผลในด้านจิตประสาท และ cannabidiol (CBD) ซึ่งมีผลในการลดการอาเจียน (antiemetic effect) ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory effect) กันชัก (anticonvulsive effect) และปกป้องเซลล์ประสาท (neuroprotective effect)

สาร phytocannabinoids ออกฤทธิ์ที่ตัวรับที่เซลล์ (cell receptor) ในร่างกายและสมอง ระบบ endocannabinoid system (ECS) ประกอบด้วยตัวรับ (receptor), endogenous ligands (endocannabinoids) และเอนไซม์ในกระบวนการเมแทบอลิซึม phytocannabinoids และสารสังเคราะห์ cannabinoids ออกฤทธิ์ผ่านระบบ endocannbinoid system โดยเฉพาะตัวรับ (receptor) คือ CB1 ในระบบประสาท ซึ่งมีผลในด้านความเจ็บปวดและการควบคุมการการขยับร่างกาย ความจำและการรู้คิด และ CB2 ในระบบเซลล์ภูมิคุ้มกันและระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (musculoskeletal tissues) โดยฤทธิ์ในการปกป้องเซลล์ประสาท (neuroprotective effect) เชื่อว่าเกิดจากการลดการหลั่ง glutamate ลด excitotoxicity และลดการทำลายที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระ (oxidative stress) และต้านการอักเสบ (anti-inflammatory effect) ที่ผ่านทาง CB1 และ CB2 และกระบวนการที่ไม่พึ่งตัวรับ (receptor-independent mechanism)

ข้อมูลเกี่ยวกับกลไกของสารกัญชาที่อาจจะมาช่วยปรับเปลี่ยนกลไกทางพยาธิสรีรวิทยา ของภาวะสมองเสื่อม และกลไกของสารกัญชาที่มีผลต่อสารสื่อประสาทที่อาจช่วยให้อาการทางประสาทวิทยาและทางจิตเวชของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมดีขึ้น

ข้อมูลในสัตว์ทดลอง

จากการวิจัยพบว่า THC ช่วยทำให้เกิด hippocampal neurogenesis, ป้องกัน neurodegenerative process ที่เกิดขึ้นในสัตว์ทดลอง ป้องกันการรู้คิดบกพร่อง (cognitive impairment) จากการอักเสบ และฟื้นฟูความจำและการรู้คิดในหนูทดลองที่อายุมาก ทำให้มีการศึกษาผลของกัญชาในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ข้อมูลในมนุษย์ งานวิจัยที่เป็นการศึกษาแบบเปิด (open label study) ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วย 6 และ 11 คน และรายงานผู้ป่วย (case report) ในการใช้กัญชาในผู้ป่วยสมองเสื่อมมักจะให้ผลที่ดีในการลดการเคลื่อนไหวในตอนกลางคืน คะแนนของ Neuropsychiatric Inventory (NPI) ดีขึ้น ลดอาการพลุ่งพล่านกระวนกระวาย (agitation) หงุดหงิด (irritability) เฉยเมย (apathy) ก้าวร้าว (aggression) อาการหลงผิด (delusion) และพฤติกรรมผิดปกติตอนกลางคืน อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่เป็นการศึกษาแบบเปิด ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย (ในที่นี้คือ ผู้ดูแลผู้ป่วย) จะทราบว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบไหน ทำให้มีโอกาสมีอคติ (bias) ในการประเมินและการรายงานผลได้สูง งานวิจัยที่เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ซึ่งมีคุณภาพของงานวิจัยสูงกว่า มีการทำในผู้ป่วยสมองเสื่อม รวม 3 การศึกษา รวม 78 ราย และในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 1 การศึกษา 12 ราย (ตารางที่ 1) โดยเป็นการศึกษาที่เป็น crossover study ซึ่งงานวิจัยทั้ง 4 งานมีจำนวนประชากรในการศึกษาน้อย มีความไม่ชัดเจนในประเด็นอคติของการวิจัย ได้แก่ การอธิบาย allocation concealment และ blinding ไม่เพียงพอ และผลการศึกษาออกมาขัดแย้งกัน คือ ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 12 ราย ที่ได้ dronabinol 2.5 มก. ซึ่งเป็น synthetic THC พบว่าผู้ที่ได้ dronabinol มีการลดลงของความรุนแรงของพฤติกรรมที่รบกวนโดยการประเมิน Cohen-Mansfield Agitation Inventory (CMAI) และลด negative affect และในผู้ป่วยสมองเสื่อม 2 ราย ยา dronabionol 2.5 มก. สามารถลด nighttime agitation และทำให้วงจรการนอนหลับ (circadian rhythm) ดีขึ้น แต่ในอีก 2 การศึกษาที่มีผู้ป่วยสมองเสื่อมรวม 76 ราย ไม่พบว่าการใช้ THC จะลดอาการทางจิตประสาทได้

ผลข้างเคียงหลักของกัญชาในผู้สูงอายุ ในการศึกษาที่เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ในผู้สูงอายุ ผลข้างเคียงของกัญชามักไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ในหลายการศึกษาไม่แตกต่างจากยาหลอก โดยมีความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงทางจิตประสาทที่รุนแรงประมาณเกือบร้อยละ120 แต่ที่ผลข้างเคียงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ง่วงซึม ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวาย การรู้คิดบกพร่อง สับสน คลื่นไส้ การเดินและการทรงตัวบกพร่อง แต่ไม่เพิ่มการหกล้ม สรุปภาพรวมของผลข้างเคียงของกัญชาในผู้สูงอายุในตารางที่ 2

ข้อจำกัดที่เกิดจากงานวิจัยกัญชาในการรักษาโรค ข้อจำกัดที่เกิดจากงานวิจัยกัญชาในการรักษาโรค มักมีในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
  1. งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการศึกษาที่เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม หรือมียาหลอกเปรียบเทียบ (randomized controlled trial) ซึ่งถือว่ามีคุณภาพสูงในการวิจัย
  2. การวิจัยมักไม่มีข้อมูลงานวิจัยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 75 ปี
  3. งานวิจัยมิได้เน้นถึงอายุของผู้ร่วมวิจัยและขนาดของ THC เนื่องจากTHC มีผลต่อความจำและการรู้คิด (cognition) แบบ biphasic ขึ้นกับอายุของผู้ได้รับและขนาดของ THC ดังที่พบในการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ในสัตว์ทดลองที่อายุมาก THC ในระดับต่ำช่วยกระตุ้นความจำและการรู้คิด ในขณะที่ในระดับสูงจะส่งผลเสียต่อหน้าที่เหล่านี้ ส่วนในสัตว์ทดลองที่อายุน้อย แม้ได้ THC ในขนาดต่ำก็ส่งผลเสีย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานในคน ที่พบว่า THC มีผลเสียต่อความจำและการรู้คิด มักเป็นรายงานในคนหนุ่มสาว
  4. จำนวนประชากรน้อย
  5. การติดตามผู้ป่วยในการวิจัยมีระยะสั้นเกินไป
  6. ผลการวิจัยขัดแย้งกัน คือ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง โดยสรุปปริมาณงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาภาวะสมองเสื่อมยังมีน้อยและงานวิจัยส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพต่ำ จึงไม่สามารถสรุปหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการใช้กัญชาในการป้องกันและรักษาภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์
ข้อมูลเกี่ยวกับคำแนะนำในเรื่องการนำกัญชามาใช้ในการแพทย์โดยเฉพาะในด้านการรักษาภาวะสมองเสื่อม ขององค์กรในระดับนานาชาติที่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม คำแนะนำของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประเทศสหราชอาณาจักร สมาคมโรคอัลไซเมอร์ประเทศสหราชอาณาจักร สรุปว่าถึงแม้จะมีหลักฐานทางห้องปฏิบัติการว่ากัญชาอาจมีผลในการรักษากระบวนการความผิดปกติในภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะในโรคอัลไซเมอร์ แต่ยังขาดหลักฐานการศึกษาที่มีคุณภาพที่ดี และยังขาดความเข้าใจถึงการใช้กัญชาในการลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม และศักยภาพของกัญชาในการรักษาภาวะสมองเสื่อม นอกจากนั้นการใช้กัญชายังอาจส่งผลลบต่อความจำและการคิด โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้กัญชาอย่างมาก จึงควรมีงานวิจัยเพิ่มเติมในด้านของประโยชน์และโทษของกัญชาในกรณีภาวะสมองเสื่อม คำแนะนำของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ประเทศแคนาดา สมาคมโรคอัลไซเมอร์ประเทศแคนาดา สรุปว่า ในขณะที่มีงานวิจัยที่น่าสนใจถึงผลของกัญชาในภาวะสมองเสื่อม ที่กำลังดำเนินการวิจัยอยู่ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากัญชามีประโยชน์ในการป้องกันหรือรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้

ข้อสรุปและคำแนะนำของสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ที่จะสรุปเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการใช้กัญชาในการป้องกันและรักษาหรือหยุดยั้งการดำเนินโรคในภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ วงการแพทย์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากการวิจัยที่มีคุณภาพสูง ในการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกัญชาในภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้สารชนิดนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน